จากหลักฐานด้านเอกสารตำนานและพงศาวดารกล่าวถึงวัดนี้ว่า แต่เดิมชื่อวัดกู่คำ กู่ หมายถึง พระเจดีย์ คำ หมายถึง ทองคำ ที่พญามังรายปฐมกษัตริย์ของแคว้นล้านนาทรงโปรดให้ก่อสร้างสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๑ ตามข้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพงศาวดารโยนกตรงกันดังนี้ เจ้ามังรายจึงหื้อไปเอาดินหนองต่าง มาก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม ให้เป็นที่บูชาแก่ชาวเมืองทั้งหลาย เมื่อจุลศักราช ๖๕๐ (พ.ศ.๑๘๓๑) ปีชวด สัมฤทธิศก โบราณวัตถุสถานสำคัญของวัด คือองค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑปลด ๕ ชั้น มีลักษณะเดียวกันกับ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ที่จัดเป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกๆของแคว้นล้านนา โดยได้รับอิทธิพลจากแคว้นหริภุญไชย แต่ในสภาพปัจจุบันได้รับการซ่อมบูรณะในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยพญาตะก่า-หม่องปันโยที่ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงโยนการวิจิตร ต้นสกุลพระราชทาน อุปโยคิน ผู้เป็นคหบดีค้าไม้ชาวพม่า ที่ได้รับช่วงสัมปทาน ตัดชักลากไม้สักในเขตภาคเหนือของบริษัทบอมเบย์-เบอร์มาร์ และบริษัทบอร์เนียวในสมัยตอนปลายรัชกาลที่ ๕ และตั้งบ้านเรือนใช้เป็นที่ทำการด้วยที่หัวฝายท่าวังตาล บนฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขตละแวกใกล้เคียงกันกับวัด วัดนี้มีความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์อยู่ตรงที่ เป็นวัดกษัตริย์สร้าง มีรูปแบบเจดีย์ที่แสดงอิทธิพลรูปแบบของรัฐหริภุญไชย โดยที่พญามังรายโปรดให้เอามาก่อสร้างไว้ในเวียงกุมกามระยะแรกๆ
สิ่งอำนวยความสะดวก
-ที่จอดรถ
-ห้องน้ำ
การเดินทาง
ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร การเดินทางเข้าถึงโดยเส้นทางถนนสายเกาะกลาง – หนองหอย มีแนวเลียบบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตั้งอยู่นอกเขตเมืองโบราณเวียงกุมกาม
ตั้งอยู่ที่ ม. 1 ท่าวังตาล สารภี เชียงใหม่