วัดหลวงฮอด

วัดหลวงฮอด

บ.หลวงฮอด  ม.๒  ต.ฮอด  อ.ฮอด  จ.เชียงใหม่

[พระบรมธาตุเจดีย์]

วัดหลวงฮอด ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๙ ม.๒ บ้านหลวงฮอด ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๓๐ ตารางวา

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ          ประมาณ   ๖๐  เมตร    จดที่สวนเอกชน
ทิศใต้              ประมาณ   ๙๒  เมตร    จนถนนสาธารณะ
ทิศตะวันออก    ประมาณ   ๑๓๒  เมตร   จดถนนสายฮอด-บ.วังลุง
ทิศตะวันตก      ประมาณ   ๘๔  เมตร    จดถนนสาธารณะ

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย  วิหาร อุโบสถ เจดีย์ กุฏิสงฆ์ ศาลา หอสรงน้ำพระบรมธาตุ โรงครัว ฯลฯ

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดหลวงฮอด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระเจดีย์ขนาดกว้าง ๑๒ × ๑๒ เมตร สูง ๒๔ เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖ เสร็จและฉลองเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๑ สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง ๑,๐๘๑,๗๕๐.๕๐ บาท จากผู้มีจิต

ประวัติวัดหลวงฮอด



วัดหลวงฮอด สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕ เดิมเป็นวัดร้างโบราณ สร้างสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๗ น้ำจากเขื่อนภูมิพลเกิดเอ่อท่วมจึงได้อพยพวัดมาสร้างใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๗ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

ภายในวัดมีพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองฮอดประดิษฐานอยู่คือ “พระเจ้าเขียว” เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์หล่อขนาดเท่าของจริง น่าจะสร้างขึ้นมาในสมัยเดียวกับพระพุทธรูปที่กรมศิลปากรได้สำรวจไว้ก่อนที่น้ำจะท่วม คือพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระพุทธรูปเชียงแสนชั้นหลัง พระพุทธรูปที่สร้างตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่มาจนถึงสิ้นแผ่นดินพระไชยเชษฐา คือ พ.ศ.๒๐๘๙ เป็นสมบัติโบราณเพียงไม่กี่ชิ้นที่ชาวบ้านหลวงฮอดนำขึ้นมาด้วยพร้อมกับวัดหลวงฮอด พระเจ้าเขียวตั้งชื่อตามสีขององค์พระที่มีสีเขียวแก่

พระเจ้าเขียว เป็นที่นับถือของชาวเมืองฮอดเป็นอย่างมาก เคยหายไปจากเมืองฮอด ๒ ครั้ง แต่ก็ได้คืนมาในที่สุด ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนศาลาพร้อมกับพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่นๆ ศาลาที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุของวัดมีการป้องกันแน่นหนา ประตูป้องกันหลายชั้น มีการจัดเวรยามด้วยการแบ่งหมวดให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมานอนเฝ้ากันทุกคืนๆ ละ ๕-๑๐ คน ทุกปีมีงานประเพณีสรงน้ำ เรียกว่า งานสรงน้ำพระเจ้าเขียวและพระธาตุวัดหลวงฮอด ในวันพญาวัน หรือวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี และวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เหนือ (วันวิสาขบูชา) ชาวบ้านในอำเภอฮอดจะเดินทางมาร่วมงานสรงน้ำกันอย่างเนืองแน่น เชื่อกันว่าการสรงน้ำพระธาตุและพระเจ้าเขียวจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

การบริหารการเมืองการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม  คือ
๑. พระปลอก
๒. พระน้อย
๓. พระมา
๔. พระดวง กันทะแก้ว
๕. พระอิ่นแก้ว แก้วเทพย์     พ.ศ.๒๔๒๑ – ๒๔๕๑
๖. พระครูจันทสารวิมล         พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๕๑๓
๗. พระปัญญา จีโน             พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๖
๘. พระอำนวย ทิศวงศ์         พ.ศ.๒๕๑๖ – ๒๕๑๗
๙. พระคำ สนฺติกโร             พ.ศ.๒๕๑๗ – ๒๕๒๗
๑๐. พระณรงค์ อินฺทปญฺโญ   พ.ศ.๒๕๒๗ – ๒๕๓๐
๑๑. พระสม ธมฺมวโร            พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๔๓
๑๒. พระสมชัย สุชาโต         พ.ศ.๒๕๔๓ – ๒๕๔๓

จุดธูป เทียน ถวายลูกแก้วจักรพรรดิ เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา  และขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบต่อไปจน ๕๐๐๐ ปี ค่ะ สาธุ

Write a Review

Click to rate

การสมัครสมาชิกหมายถึงคุณยอมรับต่อ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน and our นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเว็บไซด์ของเราแล้ว