วัดมรุกขนครนี้เจริญรุ่งเรืองมากในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2320 ตัวเมืองถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง และเกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จึงได้ย้ายไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม บริเวณนั้นปรากฏชื่อว่า “บ้านเมืองเก่า” มาจนถึงทุกวันนี้ ยังมีซากปรักหักพังของเมืองและวัดปรากฎอยู่ให้เห็น อยู่ในบริเวณโรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ ทิศเหนือห้วยบังฮวก ปัจจุบันได้รับการบูรณะและตั้งเป็นวัดโดยถูกต้องสมบูรณ์ พระธาตุมรุกขนคร ประดิษฐานอยู่ที่วัดมรุกขนคร บ้านดอนนางหงส์ท่า ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะคล้ายพระธาตุพนมแต่เล็กกว่า สูง 50.9 เมตร ฐานกว้างด้านละ 20 เมตร พระธาตุสูง 50.9 เมตร มีความหมายว่าสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ จุด 9 หมายถึงรัชกาลที่ 9 สิ้นค่าก่อสร้างรวม 35,000,000 บาท ได้รับการอุปถัมภ์จากหม่อมหลวงทวีสันต์ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ และคุณหญิงแม่บุญศรี สนธยางกูล พร้อมด้วยศรัทธาจากทั่วสารทิศ พระธาตุมรุกขนคร เป็น 1 ในพระธาตุประจำวันเกิด 7 องค์ในจังหวัดนครพนม (โดยพระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุหลัก ส่วนอีก 6 องค์เป็นบริวาร) และถือเป็นพระธาตุบริวารของพระธาตุพนม องค์ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาพระธาตุทั้ง 7 องค์ วัดมรุกขนครที่ประดิษฐานพระธาตุองค์นี้มีอายุเกือบสามร้อยปีมาแล้ว สร้างโดยพระบรมราชาเจ้าแอวก่าน เจ้าเมืองมรุกขนคร เป็นวัดประจำเมืองที่มีความเจริญมากแต่ต่อมาถูกทิ้งร้างไป มีการพบซากของวัดอยู่ที่โรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ตรงข้ามกับที่ตั้งวัดในปัจจุบัน กั้นด้วยห้วยบังฮวกซึ่งเป็นห้วยที่ไหลมาจากแม่น้ำโขง ส่วนฐานของศาสนสถานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ อายุราวปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ใน พ.ศ. 2539 ทางโรงเรียนได้นำอิฐมาก่อล้อมซากอาคารเอาไว้ เดิมเมืองมรุกขนครตั้งอยู่ที่เมืองท่าแขก ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ต่อมาพระบรมราชา (กู่แก้ว) ผู้ครองเมืองมรุกขนนคร ได้ย้ายเมืองจากท่าแขกมาตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงปากห้วยบังฮวก
ตั้งอยู่ที่ ดอนนางหงส์ท่า ม. 7 ดอนนางหงส์ ธาตุพนม นครพนม