วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง
    
อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ถนนสมภารคงแยกจากถนนมาลัยแมน ไปประมาณ 300 เมตรในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธาน เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2456 ชาวบ้านลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” ก็ได้ไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้ และพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพระผงสุพรรณ เช่น พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน ตลอดจนพระเนื้อชินต่างๆ ซึ่งปัจจุบันหายาก นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้าง ในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะหลักฐานการก่อสร้าง เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ด้านทิศตะวันตก บริเวณศูนย์กลางเมืองโบราณสุพรรณบุรี ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ภายในวัดประกอบไปด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ อุโบสถ วิหารน้อย และซากเจดีย์รายจำนวน 2 องค์ บริเวณด้านทิศตะวันตกของพระปรางค์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ภายในวิหารด้านหน้าพระปรางค์

 

เมื่อ พ.ศ. 2456 ในคราวขุดกรุพระปรางค์วัดนี้ได้พบจารึกลานทองหลายลานด้วยกัน ที่สำคัญคือ จารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ทรงสร้างและทรงซ่อมพระปรางค์องค์ดังกล่าวไว้ด้วย (จารึกหลักที่ 47) ) ซึ่งอายุของจารึกลานทองแผ่นนี้ นักภาษาโบราณหลายท่าน ( ก่องแก้ว วีรประจักษ์, เทิม มีเต็ม , อุไรศรี วรศะริน ) ให้ความเห็นว่า อักษรในจารึกลานทองแผ่นนี้เป็นรูปอักษรในราวพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เมื่อพิจารณาตามข้อความในจารึกและพระนามพระมหากษัตริย์แล้วจะเห็นว่าเป็นพระนามกษัตริย์ในสมัยอยุธยา ขัดกันกับรูปอักษรมาก ในขณะที่พิจารณาทางรูปแบบศิลปกรรมศิลปกรรมขององค์ปรางค์ก็เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา จึงมีทางเป็นไปได้ว่า จารึกลานทอง หลักที่ 47 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้เป็นจารึกที่สร้างขึ้นใหม่ โดยใช้อักษรข้อความลอกเลียนแบบจารึกของเดิมซึ่งชำรุด

ในปี พ.ศ. 2542-2543 ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินงานขุดค้นบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พบว่าบริเวณดังกล่าวนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17

ลักษณะทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมของพระปรางค์

พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ก่อด้วยอิฐสอดิน ผิวด้านนอกฉาบปูนส่วนฐานทำเป็นชุดฐานบัวลูกฟัก สี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น รองรับองค์เรือนธาตุ ลักษณะมุมมีมุมประธานซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่กลาง มุมย่อยซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่กลาง มุมย่อยซึ่งมีขนาดเล็กกว่าขนาบทั้งสองข้าง

องค์เรือนธาตุสอบโค้งเข้าหาส่วนบน ย่อมุมรับกับส่วนฐาน มีมุมซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน เฉพาะด้านทิศตะวันออกทำเป็นคูหา ประดิษฐานพระปรางค์จำลอง ผนังห้องคูหาทั้ง 3 ด้านฉาบปูนเรียบ เพดานบุด้วยแผ่นไม้กระดาน และมีบันไดขึ้นสู่คูหาเพียงด้านเดียว หน้าบันเรือนธาตุทำเป็นซุ้มลดซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏรูปเทพพนมระหว่างมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปอุบะและกลีบบัว อันเป็นแบบประเพณีนิยมสมัยอยุธยาตอนต้นสามารถเปรียบเทียบได้กับชั้นบัวรัดเกล้าที่พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เหนือขึ้นไปเป็นชั้นเชิงบาตรครุฑแบก ยักษ์แบก แต่ปัจจุบันปรากฏเพียงปูนปั้นรูปยักษ์บริเวณมุมย่อยเท่านั้น นอกจากนี้บริเวณหน้ากระดานของวิมานชั้นแรกยังปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปหงส์ รูปใบไม้ ในกระจกอีกด้วย

ส่วนยอดพระปรางค์ประกอบด้วยชั้นวิมานจำลองซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น สอบโค้งเข้าหาปลาย บริเวณมุมและด้านประดับด้วยกลีบขนุนและซุ้มบันแถลง ยอดพระปรางค์ประดังด้วยนภศูล

ตั้งอยู่ที่ ม. 1 รั้วใหญ่ เมืองสุพรรณบุรี สุพรรณบุรี

Write a Review

Click to rate

การสมัครสมาชิกหมายถึงคุณยอมรับต่อ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน and our นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเว็บไซด์ของเราแล้ว