วัดพระธาตุจอมแว่
1/11 ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย ตั้งอยู่บนยอดดอยจอมแว่ (อยู่ห่างตัวอำเภอ 3 กม. แต่ห่างจาก ถ.พหลโยธิน เพียง 300 เมตร ไม่เข้าแยกอำเภอ ให้เลยไปเข้าแยกวัดชัยมงคล) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพ.ศ. 2508 เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
:::คำขวัญอำเภอพาน:::
พระธาตุจอมแว่ ศักดิ์สิทธิ์
แหล่งผลิต ลำไย
ถ้ำผาโขง งามสดใส
เลื่องลือไกลถิ่น ข้าวสาร
งามตระการ พระธาตุสามดวง
เที่ยวดอยหลวง น้ำตกปูแกง
๐ คำบูชาพระธาตุจอมแว่ ตั้งนะโมฯ 3 จบ
อะหัง วันทามิ มหาชินะ เกศา ธาตุโย
พุทธรูปัง โคตมัง อะหัง วันทามิ
:::::::ตำนานและประวัติ:::::::
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จจาริกเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระธรรมที่ตรัสรู้นั้นให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้รู้แจ้งเห็นจริง เล่าขานกันว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงดอยซางคำ และทรงพักพระวรกายบนยอดดอย และทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณว่า สถานที่แห่งนี้จักเป็นพุทธสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในอนาคตกาล พระองค์จึงได้ทรงประทานพระเกศาจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ติดตามเฝ้านมัสการ เพื่อกราบไหว้บูชาแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จไปแล้ว ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุ ณ ที่พระพุทธองค์ทรงประทับ
**ปีพ.ศ. 1839 พญางำเมือง กษัตริย์ผู้ครองเมืองภูกามยาว(พะเยา) ได้เสด็จมาถึงดอยซางคำ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นดอยจอมแว่) และพบที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ครอบองค์เจดีย์เดิม และบรรจุแก้วแหวนเงินทองไว้ภายใน เป็นเครื่องบูชา องค์เจดีย์มีฐานกว้างด้านละ 1 วา 2 ศอก สูง 2 วา 3 ศอก มีพิธีฉลองสมโภชเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
**ปีพ.ศ. 2380 เจ้าพญาหาญ พ่อเมืองพานคนแรก ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ พร้อมกับสร้างอุโบสถขึ้น 1 หลัง กว้าง 3 วา 2 ศอก รวม 3 ห้อง มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้แผ่นบาง)
**ปี พ.ศ.2416 พญาไชยเฒ่า พ่อเมืองพานคนที่สอง ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์เจดีย์ และอุโบสถ
**ปีพ.ศ. 2450 พญาไชยชนะสงคราม (ขุนหลวงพวงพูลสวัสดิ์) พ่อเมืองพานคนที่สาม พร้อมด้วยคณะศรัทธาได้ร่วมกันบูรณะองค์เจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิมเป็นฐานกว้าง 4 วา 2 ศอก สูง 7 วา 2 ศอก
**ปีพ.ศ. 2488 ได้เกิดอัคคีภัยธรรมชาติ ทำให้อุโบสถและเสนาสนะต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย
**ปีพ.ศ. 2490 ทางวัด หน่วยงานราชการ และประชาชน ได้ร่วมกันสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น มีขนาดกว้าง 8 วา ยาว 18 วา
**ปีพ.ศ. 2531 ทาสีองค์พระธาตุ และกำแพง เป็นสีขาว
**ปีพ.ศ. 2547 ทาสีองค์พระธาตุเป็นสีทอง
**ปีพ.ศ. 2556 มีการซ่อมแซมฐานองค์พระธาตุ ที่ชำรุด และพื้นภายในกำแพง
๐ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ทาสีทอง ประทับเหนือแท่นชุกชี เป็นพระประธานในอุโบสถ
๐ พระพุทธจอมเกศมหามังคลานุสรณ์ ร.9 เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร ขนาดใหญ่ ความสูง 18.90 เมตร ฐานสูง 8 เมตร รวมความสูง 26.90 เมตร โครงสร้างเป็น คสล. ทาสีทอง ควบคุมการสร้างโดย เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 และทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปีพ.ศ. 2539 โดยคณะสงฆ์ หน่วยราชการ และคณะศรัทธาทั่วทั้ง อ.พาน ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระหทัย (หัวใจ) มีการสมโภชองค์พระพุทธรูป ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
๐ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระนอนขนาดใหญ่ สร้างขึ้นบริเวณจุดชมวิว ดอยจอมแว่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และร่วมสมโภชเมืองเชียงราย ครบรอบ 750 ปี ในปีพ.ศ. 2555
๐ บันไดมกรคายนาค ทางขึ้นวัด เป็นนาค 3 เศียร บันไดมีจำนวน 327 ขั้น สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2503
**ผ้าสำหรับห่มองค์พระธาตุ ยาว 18 เมตร
**พญางำเมือง เจ้าเมืองภูกามยาว (พะเยา) ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นหลายองค์ อาทิเช่น พระธาตุจอมรุ่ง พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมแว่
**ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 20 มีบันทึกถึงเมืองพานไว้ว่า อ.พานเดิมเป็นเมืองขึ้นกับ จ.ลำพูน ปีพ.ศ.2443 ทางราชการได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับจ.ลำพูน ถึงพ.ศ.2447 ทางราชการเห็นว่าเขต กิ่ง อ.เมืองพาน ไม่ได้ติดต่อกับเขตจ.ลำพูน จึงยกให้ไปขึ้นกับ อ.แม่ใจใต้ จ.เชียงราย อยู่ราว 2 ปี จึงรวม อ.แม่ใจใต้ กับ กิ่งอ.เมืองพาน เป็น อ.เมืองพาน ต่อมาปี พ.ศ.2481 เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พาน
งานประจำปี: งานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (แปดเป็ง) ประเพณีทำบุญสลากภัต วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 เหนือ
เวลาเปิด-ปิด: 06:00 น.– 18:00 น.
การเดินทาง: ระยะทาง กทม.-อ.พาน ระยะทาง 723 กม. (อยู่ก่อนถึงเชียงราย)
รถโดยสารประจำทาง: สถานีขนส่งหมอชิต 2 (ลง อ.พาน)
เครื่องบิน: สนามบินดอนเมือง ลงสนามบินเชียงราย ต่อรถอีกประมาณ 50 กม