วัดพระธาตุกลางใจเมือง (พระธาตุสะดือเมือง)
บ.ศรีค้ำ ม.๘ ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
[พระบรมธาตุเจดีย์]
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุกลางใจเมือง ประดิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของอำเภอพร้าว ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้เดินทางมาบูรณะ
ประวัติพระธาตุกลางใจเมือง วัดพระธาตุกลางใจเมือง
กล่าวว่า “เดิมวัดนี้สร้างขึ้นในสมัย พระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แล้วได้ทรงประทานนามว่า “วัดสะดือเมือง” อันหมายถึงจุดศูนย์กลางของเวียงพร้าววังหิน แล้วก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๑๐๑ ล้านนาไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดพระธาตุสะดือเมืองก็ถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นเวลานานร่วม ๓๗๑ ปีทีเดียว
จนกระทั่งวันสำคัญมาถึง คือวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๒ คณะสงฆ์และข้าราชการตลอดถึงพ่อค้าประชาชนทั้งหลายได้ทราบว่า ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้ธุดงค์มาโปรดญาติโยมที่วัดถ้ำเชียงดาว
ทั้งหมดจึงได้ไปอาราธนานิมนต์ท่านมาโปรดเมตตาญาติโยมในเวียงพร้าว และขอให้ท่านช่วยบูรณะวัดสันทรายด้วย ท่านครูบารับนิมนต์แล้วได้เดินทางย้อนไปทางอำเภอแม่แตง โดยเข้าทาง บ้านช่อแล
ท่านได้เดินทางเข้ามาถึงวัดสันทราย อ.พร้าว ในเวลา ๕ โมงเย็น วันที่ ๒๖ ต.ค. ๒๔๗๒ รุ่งเช้าวันที่ ๒๗ มีญาติโยมนับหมื่นมาทำบุญใส่บาตร หลังจากท่านให้ศีลให้พรเสร็จแล้ว ผู้นำหมู่บ้านได้อาราธนาท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ช่วยปฏิสังขรณ์วัดนี้ แต่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวต่อบรรดาคณะศรัทธาทั้งหลายที่มานั้นว่า
“วัดที่อาตมาจะสร้างนั้น ไม่ใช่วัดสันทราย เมื่อคืนนี้มีรุกขเทวดามาอาราธนาให้สร้างวัดที่สำคัญยิ่งมาแต่อดีต อยู่ห่างจากวัดนี้ไปทางทิศตะวันออก…”
หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ท่านได้นำญาติโยมทั้งหมดเดินทางไปเสาะหาวัดร้างแห่งหนึ่ง พบซากอิฐที่ปรักหักพังทับถมกันอยู่ จึงให้ทุกคนช่วยกันขุดรื้อหาร่องรอย จึงได้พบศิลาจารึกเป็นแผ่นหินสีดำ ซึ่งจารึกด้วยอักษรล้านนา มีข้อความสั้นๆ ว่า…
“….วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด พุทธศักราช ๑๙๒๘ กือนาธรรมิกราช วัดนี้ชื่อว่า “สะดือเมือง”
พร้อมกันนี้ก็พบวัตถุสิ่งของมีค่ามากมาย อาทิเช่น ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เทียนเงินเทียนทอง ระฆังทองผสมเงิน ท่านครูบาเจ้าก็ให้นำมาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุที่สร้างขึ้นมา พร้อมกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า วัดพระธาตุกลางใจเมือง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อนึ่ง วัดนี้ยังมีต้นศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ที่มีอยู่คู่วัดมาแต่เดิม ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดสมัยพระเจ้ากือนา จำนวนถึง ๓ ต้น ต่อมาอีกหลายร้อยปีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งได้ล้มเอนลงไป เนื่องจากแผ่นดินไหว อยู่ในลักษณะเช่นนั้นถึง ๒ ปี ต่อมามีพายุฝนฟ้าคะนอง มีแผ่นดินไหวรุนแรงเป็นพักๆ ตลอดคืน
รุ่งเช้าชาวบ้านแตกตื่นออกไปดู พบว่าต้นโพธิ์ที่ล้มเอนนั้น กลับพลิกขึ้นมาตั้งตรงเช่นเดิม ชาวบ้านสมัยนั้นจึงได้ทำพิธีการสมโภช ด้วยการนำเอาไม้ค้ำมาค้ำไว้เพื่อไม่ให้ล้มได้อีก อาศัยนามอันเป็นมงคลนี้ หมู่บ้านนี้จึงเปลี่ยนจากเดิม บ้านสันศรี มาเป็น บ้านศรีค้ำ ตั้งแต่นั้นมา