วัดปัญญาวุธาราม (สันกู่)
ม.๒ ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
[พระบรมธาตุเจดีย์ , พระบรมธาตุพระนางเจ้าจามเทวี]
การเดินทางไปวัดปัญญาวุธาราม (สันกู่) ม.๒ ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ (เชียงใหม่ – ฮอด) ระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ถึงเขตติดต่ออำเภอจอมทองประมาณ ๘๘ กิโลเมตร ขับรถผ่านแยกหอนาฬิกาอำเภอฮอดเพียง ๒ กิโลเมตร จะเจอถนนทางสามแยกไปอำเภอดอยเต่า ให้เลี้ยวซ้ายไปทางหลวงหมายเลข ๑๑๐๓ (ไปอำเภอดอยเต่า) แล้วขับรถตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะถึงปากทางเข้า/ออก วัดปัญญาวุธาราม (สันกู่)
ประวัติวัดปัญญาวุธาราม (สันกู่)
ตามประวัติเมืองฮอด “พิศดารนคร” ว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๑ พระแม่เจ้าจามเทวี บรมราชนารีศรีสุริยะวงค์ องค์บดินทร์ปิ่นธานีหริภุญชัย เสด็จขึ้นมาครองเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นามว่า “หริภุญชัย” หรือ เมืองลำพูน ผู้สร้างนครหริภุญชัยหรือเมืองลำพูน ได้ออกทำศึกกับอริราชศัตรูในเขตชายแดนฝั่งเหนือ และหลังจากการสู้รบแล้ว พระองค์ทรงเสร็จกลับนคร พร้อมกับศพของทหารที่ร่วมรบกับพระองค์โดยเสด็จกลับทางน้ำ ขณะนั้นเป็นหน้าน้ำหลากกระแสน้ำเชี่ยวมาก เรือที่บรรทุกศพของทหารได้ล่มลง (ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณท้ายวัดปัญญาวุธาราม (สันกู่)) พระองค์จึงมีคำสั่งให้ทหารทั้งหมดค้นหาศพที่จมอยู่ในท้องน้ำและให้นำศพขึ้นมาทำพิธีตามสมัยโบราณ
ต่อมาได้ตั้งเป็นวัดขึ้น ส่วนพระแม่เจ้าจามเทวีได้บวชและถือศีลอยู่ที่วัดแห่งนี้ พร้อมได้สร้างกู่ (เจดีย์) เก็บกระดูกเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่เสียชีวิตในสงคราม และทรงเสด็จกลับนครหริภุญชัย จนกระทั่งบั้นปลายชีวิตของพระแม่เจ้าจามเทวี พระองค์ได้ทรงเสด็จกลับมาที่วัดนี้และได้มาปฏิบัติธรรมถือศีล จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในเมืองฮอดได้มีคำเล่าขานกันมาว่า พระแม่เจ้าจามเทวีได้มาบวชและปฏิบัติธรรมให้กับดวงวิญญาณของทหารที่วัดแห่งนี้
จากนั้นวัดนี้ก็ร้างมาเป็นเวลาพันปี ไม่มีผู้ใดกล้าเข้ามา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ (พระเทพสิทธาจารย์) ได้กราบอาราธนานิมนต์ หลวงปู่ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน มาเป็นผู้มาเปิดเป็นสำนักปฏิบัติธรรม และได้ยกขึ้นเป็นวัดในลำดับต่อมา คำว่า “สันกู่” เป็นภาษาของเมืองเหนือ แปลเป็นภาษาไทยว่า “สถานที่ฝังกระดูก” ซึ่งชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ติดปากกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีและเป็นประวัติศาสตร์คู่กับเมืองฮอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้
วัดปัญญาวุธาราม (สันกู่) ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๗๕ ไร่ เลขที่ ๑๕๑ หมู่ ๒ ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ครูบากาบ ชยฺลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดอินทาราม ได้มาพบกู่เก่าแห่งนี้
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ พระครูพิพัฒน์ คณาภิบาล (ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าคณะอำเภอฮอด ได้บูรณปฏิสังขรณ์
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมจักร พรหมจกฺโก) เป็นประธานเปิดสำนักวิปัสนากรรมฐาน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ มติมหาเถระสมาคมยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์จำวัด
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับรองประกาศเป็นอุทยานการศึกษาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับเลือกจากกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ ความดำริของพระราชพรหมจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าคณะอำเภอฮอด มีพระราชพุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะอำเภอฮอดพร้อมคณะสงฆ์และทางราชการ ได้จัดตั้งวัดให้เป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำอำเภอฮอด