วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง

พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง
พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง บ้านศรีบุญเรือง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ประวัติความเป็นมา
พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง สร้างขึ้นเพื่อจะขอแบ่งพระอุรังคธาคุ ที่พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้อัญเชิญมาจากชมพูทวีปเพื่อมาประดิษฐานที่ภูกำพร้า แต่ว่าไม่สามารถจะแบ่งพระอุรังคาตุให้ได้ พระมหากัสสปะเถระจึงได้ เหาะกลับไปอัญเชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้าแบ่งมาให้แทน สร้างขึ้นในสมัยพระยานันทเสน ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ เดิมตั้งดินแดนที่ใต้ปากเซบั้งไฟ ประเทศลาว ต่อมาหลังจากพระยานันทเสนทิวงคตได้เกิดโรคระบาดจึงได้ย้ายเมืองมาตั้งเหนือพระธาตุพนมในดงไม้รวก จึงขนานนามเมืองขึ้นว่า มรุกขนคร
แล้วได้มีการสร้างพระธาตุน้อยเกิดขึ้นเพื่อบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระธาตุบริวารขององค์พระธาตุพนม
ลำดับกษัตริย์ที่ปกครองเมืองมรุกนคร
๑. พระยามรุกขนคร พระอนุชาของพระยานันทเสน โอรสของพระนางเทวบุปผา
๒. พระยาสุมิตตธรรมวงศา โอรสพระยามรุกขนคร เป็นผู้มีบุญญาธิการบารมีมาก มีแคว้นเล็กแคว้นน้อยส่งบรรณาการมาเจริญสัมพันธไมตรี และเป็นผู้ร่วมมือกับพระอรหันต์ ๕ องค์สร้างเสริมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นและบรรจุพระบรมธาตุอีก เริ่มสละคนให้เป็นข้าโอกาสพระธาตุพนมถึง ๓,๐๐๐ ครัวพร้อมด้วยเครื่องใช้สอย อุทิศบ้าน ๗ บ้าน ให้เป็นข้าพระมหาธาตุแล้วได้เสด็จไปครองเมืองร้อยเอ็ดประตู สิ้นพระชนม์ที่นั้น
๓. พระยาสุมินทราช
๔. พระยาทุฐคามณี
๕. พระยานิรุฏฐราช ท่านผู้นี้เป็นองค์สุดท้ายมีจิตใจกระด่างกระเดื่อง ไม่เลื่อมใสในคุณแก้ว ๓ ประการ รื้อถอนบ้านส่วยพระบรมธาตุ และประพฤติพระองค์ไม่ชอบหลายอย่าง บ้านเมืองจึงเกิดวิบัติหล่มร้างเป็นบึงและป่า ซึ่งได้แก่บริเวณธาตุน้อยศรีบุญเรือง บึงกอง บึงขี้เหล็ก บึงน้อย ตำบลพระกลางทุ่ง ห่างพระธาตุพนมราว ๕ – ๘ กิโลเมตร เพราะมีซากเมืองวัดโบสถ์หลายแห่งตามบริเวณนั้น[1] สันนิษฐานว่าพระธาตุน้อยศรีบุญเรืองก็น่าจะพังในสมัยนี้
และอีกข้อสันนิษฐานตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เล่าเอาไว้ว่า พระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนคร ได้ปล่อยช้างลงมาหากินและได้ชนเอาพระธาตุน้อยประกอบกับเกิดฝนตกหนักจึงทำให้พระธาตุน้อยล้มลงมาทางทิศตะวันออก โดยยอดของพระธาตุน้อยได้ล่มข้ามถนนในปัจจุบันมาถึงเขตที่ดินของนางบุญ รามางกูร และเศษอิฐดังกล่าวได้รวบรวมไว้ที่กำแพงด้านทิศตะวันออกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๔ กองอิฐดังกล่าวบางส่วนถูกตักไปรวมกันไว้ที่ฐานของพระธาตุน้อย บางส่วนนำไปถมดินทำฐานโบสถ์ในปัจจุบัน
[1] อ้างอิงจากอุรังคนิทาน วัดพระธาตุพนม
การบูรณะและการก่อสร้าง
หลังจากที่พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองได้ล้มลงก็มิได้มีผู้ใดบูรณปฏิสังขรณ์จนกระทั้งในสมัยท่านพระครูอดุลนพกร เจ้าอาวาสวัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริเริ่มและบูรณะองค์พระธาตุน้อยขึ้น ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๔ ท่านพระครูอดุลนพกร ได้เห็นองอิฐกระจัดกระจาย จึงได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้าน ควรจะสร้างฐานรอบพระธาตุเพื่อป้องกันการขโมยและเพื่อเป็นที่สักการบูชาต่อไป โดยครั้งแรกได้ดำเนินการก่อสร้าง เพียงเทคาน เทเสา ชั้นล่าง โดยใช้เงินงบประมาณของวัด จำนวน ๖,๓๐๐ บาท แต่ยังไม่เสร็จเพราะงบประมาณหมดก่อน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อโดยใช้เงินงบประมาณของวัด จำนวน ๓๐,๒๐๓ บาท ได้ก่อกำแพงล้อมรอบไม่ฉาบปูน เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ทำการฉาบปูนชั้นบนชั้นล่าง และเทคานชั้นที่ ๒ พร้อมเสา แต่ก็ขาดงบประมาณจึงไม่เสร็จ ต่อมาได้เกิดฝนตกหนักมีลมพายุพัดกระหน่ำอย่างหนัก ทำให้น้ำขังบริเวณพระธาตุน้อยกำแพงล้อมรอบทนรับน้ำหนักไม่ไหวจึงพังทลาย ๓ ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก
เมื่อการบูรณะองค์พระธาตุน้อยไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการรักษาองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองมิให้มีผู้ใดมาขุดเจาะหาของเก่า กำนันบุญเยี่ยม ศุภวุฒิ จึงได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถานภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
และในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้มีการริเริ่มอยากจะบูรณะองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองขึ้นครั้ง โดยมีพระอธิการวิวัฒน์ ญาณวฑฺฒโน เป็นผู้นำในการบูรณะองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง

ตั้งอยู่ที่ ม. 11 พระกลางทุ่ง ธาตุพนม นครพนม

Write a Review

Click to rate

การสมัครสมาชิกหมายถึงคุณยอมรับต่อ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน and our นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเว็บไซด์ของเราแล้ว