มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ

มัสยิดตะโละมาเนาะ (มลายู: Masjid Telok Manok) หรือ มัสยิดวาดีลฮูเซ็น (มลายู: Masjid Wadi Hussein) เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ 1 บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส บริเวณเชิงเขาบูโด มัสยิดแห่งนี้สร้างด้วยเครื่องไม้ดั้งเดิมที่มีความงดงามและเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกมลายู (Nusantara) ภายในเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเขียนด้วยลายมือของวันฮุซเซน อัซซานาวี อิหม่ามคนแรกของมัสยิด และยังเป็นมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างมลายู ไทย และจีน ศัพทมูลวิทยา ชื่อมัสยิดตะโละมาเนาะ มาจากคำมลายูว่า “ตะโละ” (teluk) แปลว่าอ่าว กับคำว่า “มาเนาะ” (manok) ซึ่งเป็นชื่อพรรณไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง มีมากริมลำธารใกล้มัสยิด จึงมีความหมายว่า “บริเวณที่มีต้นมาเนาะ” แต่บางแห่งก็ว่า “มาเนาะ” เป็นคำมลายูเก่า แปลว่านกหรือไก่ก็มี ส่วนชื่อมัสยิดวาดีลฮูเซ็น ตั้งตามนามของวันฮุซเซน อัซซานาวี ประวัติ ที่ตั้งของหมู่บ้านตะโละมาเนาะในอดีตเป็นป่าสมบูรณ์ ต่อมาวันฮุซเซน อัซซานาวี (Wan Hussein As-Sanawi) นักการศาสนาอิสลามจากหมู่บ้านสะนอ (ปัจจุบันคืออำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) และภรรยาคืออุมมีกัลซุม (Ummi Kalsom) หญิงชาวบ้านม่วงหวาน (ปัจจุบันคืออำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี) พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่งหนีภัยสงครามระหว่างสยามและปัตตานี บางแห่งก็ว่าโยกย้ายถิ่นฐานจากคำสั่งของเจ้าเมืองสลินดงบายู (เมืองสายบุรี) ไปตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณเชิงเขาบูโด กล่าวกันว่าวันฮุซเซนเป็นนักการศาสนาที่ยอดเยี่ยม สามารถท่องจำพระคัมภีร์อัลกุรอานได้อย่างลึกซึ้งทั้งเล่ม รวมทั้งผลิตนักปราชญ์ทางศาสนาได้จำนวนมาก มีดำริให้สร้างมัสยิดสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ จึงสร้างมัสยิดจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นคือไม้ตะเคียน ซึ่งมีมากในป่าบูโด และใช้เครื่องมือท้องถิ่น โดยมีหะยีซายฮู ครูสอนศาสนาเป็นผู้ก่อสร้าง และแซมะเป็นนายช่าง สถาปัตยกรรม มัสยิดตะโละมาเนาะสร้างด้วยไม้ตะเคียนที่มีอยู่มากในป่าบูโด อาคารแบ่งเป็นสองหลังติดกัน มีเสาไม้ 26 ต้น เสามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาด 10×10 นิ้ว พื้นหนา 2 นิ้ว สร้างด้วยศิลปะมลายู ไทย และจีน มีหลังคาทรงจั่ว ปลายปั้นลมเป็นแบบมลายูตรังกานู มีผนังฝาลูกฟัก และยกใต้ถุนสูง ใช้การสลักไม้แทนตะปู ใช้บือจือตา (เครื่องมือคล้ายขวาน บ้างเรียกขวานเล็ก) สำหรับตัดไม้ ใช้บันลีโยง (ลิ่ม) เพื่อผ่าไม้ และใช้บายิ (เครื่องมือคล้ายจอบ) ถากไม้ตะเคียนให้เรียบ แต่เดิมหลังคามุงด้วยจาก แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซึ่งทำจากอิฐสงขลา • อาคารมัสยิดหลังแรก มีหลังคาทั้งหมดสามชั้น เสาแกะสลักลายดอกพิกุล หลังคาชั้นที่สามเป็นโดมรูปเก๋งจีนแท้อยู่บนหลังคา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เดิมเก๋งจีนจะถูกใช้เป็นหออาซาน • อาคารมัสยิดหลังที่สอง มีหลังคาสองชั้น หลังคาชั้นที่สองมีจั่วบนหลังคา ชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง

หมู่ 1 บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

Write a Review

Click to rate

การสมัครสมาชิกหมายถึงคุณยอมรับต่อ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน and our นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเว็บไซด์ของเราแล้ว